วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

อาหารและโภชนาการ

                                             อาหารและโภชนาการ

ความหมายของอาหารและโภชนาการ
          โภชนาการ  (nutrition) หมายถึง อาหาร (food) ที่เข้าสู่ร่างกายคนแล้ว  ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การค้ำจุนและการซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกาย โภชนาการมีความหมายกว้างกว่าและต่างจากคำว่าอาหาร  เพราะอาหารที่กินกันอยู่ทุกวันนี้มีดีเลวต่างกัน อาหารหลายชนิดที่กินแล้วรู้สึกอิ่ม แต่ไม่มีประโยชน์ หรือก่อโทษต่อร่างกายได้
          ถ้านำเอาอาหารต่างๆมาวิเคราะห์ จะพบว่ามีสารประกอบอยู่มากมายหลายชนิด โดยอาศัยหลักคุณค่าทางโภชนาการทำให้มีการจัดสารประกอบต่างๆ ในอาหารออกเป็น ๖ ประเภท คือ โปรตีน (protein) คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ไขมัน (fat) วิตามิน (vitamin) เกลือแร่ (mineral) และน้ำ สารประกอบทั้ง ๖ กลุ่มนี่เองที่เรียกว่า "สารอาหาร" (nutrient)  ร่างกายประกอบด้วยสารอาหารเหล่านี้ และการทำงานของร่างกายจะเป็นปกติอยู่ได้ก็ต่อเมื่อได้สารอาหารทั้ง ๖ ประเภทครบถ้วน
โปรตีน
          โปรตีนเป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้  ถ้านำเอาโปรตีนมาวิเคราะห์ทางเคมี จะพบว่าประกอบด้วยสารเคมีจำพวกหนึ่งเรียกว่า กรดอะมิโน (amino acid) ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ
          ๑. กรดอะมิโนจำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างไม่ได้  ต้องได้จากอาหารที่กินเข้าไปเท่านั้น กรดอะมิโนที่อยู่ในกลุ่มนี้มีอยู่ ๙ ตัว คือ ฮิสติดีน (histidine) ไอโซลิวซีน (isoleucine) ลิวซีน (leucine) ไลซีน (lysine) เมไทโอนีน (methionine) เฟนิลอะลานีน (phenylalanine) ทรีโอนีน (threonine) ทริปโตเฟน (tryptophan) และวาลีน (valine)
          ๒. กรดอะมิโนไม่จำเป็น เป็นกรดอะมิโนที่นอกจากได้จากอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถสร้างได้ เช่น อะลานีน (alanine) อาร์จินีน (arginine)  ซีสเตอีน (cysteine) โปรลีน (proline) และไทโรซีน (tyrosine) เป็นต้น
          เมื่อโปรตีนเข้าสู่ลำไส้  น้ำย่อยจากตับอ่อนและลำไส้จะย่อยโปรตีนจนเป็นกรดอะมิโนซึ่งดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย  ร่างกายนำเอากรดอะมิโนเหล่านี้ไปสร้างเป็นโปรตีนมากมายหลายชนิด  โปรตีนแต่ละชนิดมีส่วนประกอบและการเรียงตัวของกรดอะมิโนแตกต่างกันไป

          หน้าที่ของโปรตีน

          โปรตีนมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายอยู่ ๖ ประการ  คือ
          ๑. เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตไขมันและคาร์โบไฮเดรตไม่สามารถทดแทนโปรตีนได้เพราะไม่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ
          ๒. เมื่อเติบโตขึ้น ร่างกายยังต้องการโปรตีนเพื่อนำไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆที่สึกหรอไปทุกวัน
          ๓. ช่วยรักษาดุลน้ำ โปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์และหลอดเลือด ช่วยรักษาปริมาณน้ำในเซลล์  และหลอดเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่พอเหมาะ ถ้าร่างกายขาดโปรตีน น้ำจะเล็ดลอดออกจากเซลล์และหลอดเลือดเกิดอาการบวม
          ๔. กรดอะมิโนส่วนหนึ่งถูกนำไปสร้างเป็นฮอร์โมน เอนไซม์ สารภูมิคุ้มกัน และโปรตีนชนิดต่างๆ ซึ่งแต่ละตัวมีหน้าที่แตกต่างกันไป และมีส่วนทำให้ปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายดำเนินต่อไปได้ตามปกติ
          ๕. รักษาดุลกรด-ด่างของร่างกาย เนื่องจากกรดอะมิโนมีหน่วยคาร์บอกซีล (carboxyl) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรด  และหน่วยอะมิโนมีฤทธิ์เป็นด่าง โปรตีนจึงมีสมบัติรักษาดุลกรด-ด่าง ซึ่งมีความสำคัญต่อปฏิกิริยาต่างๆภายในร่างกาย
          ๖. ให้กำลังงาน โปรตีน ๑ กรัมให้กำลังงาน ๔ กิโลแคลอรี อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างกายได้กำลังงานจากคาร์โบไฮเดรตและไขมันเพียงพอ จะสงวนโปรตีนไว้ใช้ในหน้าที่อื่น

          อาหารที่ให้โปรตีน
          อาจแบ่งโปรตีนตามแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนออกเป็น ๒ พวก คือ โปรตีนจากสัตว์และโปรตีนจากพืช  เมื่อพิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ให้โปรตีน  ต้องคำนึงถึงทั้งปริมาณและคุณภาพ  คือ ดูว่าอาหารนั้นมีโปรตีนมากน้อยเพียงใด และมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนหรือไม่ อาหารที่ให้โปรตีน น้ำหนักส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นโปรตีน และจากตารางจะเห็นว่าอาหารแต่ละชนิดมีโปรตีนไม่เท่ากัน โปรตีนจากนมและไข่ถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการยอดเยี่ยม เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน  ส่วนโปรตีนจากธัญพืชนอกจากมีปริมาณต่ำกว่าในเนื้อสัตว์และไข่แล้ว ยังมีความบกพร่องในกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิด  เช่น  ข้าวขาดไลซีนและทรีโอนีน ข้าวสาลีขาดไลซีน ข้าวโพดขาดไลซีนและทริปโตเฟน  ส่วนถั่วเมล็ดแห้ง แม้ว่าจะมีปริมาณโปรตีนสูง   แต่มีระดับเมไทโอนีนต่ำ  อย่างใดก็ตามโปรตีนจากพืชยังมีความสำคัญ เพราะราคาถูกกว่าโปรตีนจากสัตว์ และเป็นอาหารหลักของประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนา   เพียงแต่ว่าต้องทำให้ประชาชนได้โปรตีนจากสัตว์เพิ่มขึ้น เพราะจะทำให้เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพของโปรตีนที่รับประทานในแต่ละวัน

          ความต้องการโปรตีน
          คนเราต้องการโปรตีนในแต่ละวันมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับปัจจัย ๒ ประการ คือ อาหารที่กินมีปริมาณและคุณภาพของโปรตีนอย่างไร และตัวผู้กินอายุเท่าไร  ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรอยู่หรือเปล่า  ตลอดจนมีอาการเจ็บป่วยอยู่หรือไม่  ความต้องการของโปรตีนลดลงตามอายุ  เมื่อแรกเกิดเด็กต้องการโปรตีนวันละประมาณ ๒.๒  กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม  ความต้องการดังกล่าวนี้ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตั้งแต่อายุ ๑๙ ปีขึ้นไป  ต้องการโปรตีนเพียง ๐.๘ กรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัมต่อวัน ที่เป็นเช่นนี้เพราะเด็กต้องการโปรตีนไปสร้างเนื้อเยื่อต่างๆในการเจริญเติบโต  ส่วนผู้ใหญ่แม้ว่าการเจริญเติบโตหยุดแล้ว  แต่ยังต้องการโปรตีนไว้ซ่อมแซมส่วนต่างๆ  ที่สึกหรอไป ส่วนหญิงตั้งครรภ์ต้องการโปรตีนเพิ่มขึ้นอีกวันละ ๓๐ กรัม เพื่อนำไปใช้สำหรับแม่และลูกในครรภ์  แม่ที่ให้นมลูกต้องกินโปรตีนเพิ่มอีกวันละ ๒๐ กรัม เพราะการสร้างน้ำนมต้องอาศัยโปรตีนจากอาหาร
คาร์โบไฮเดรต
          คาร์โบไฮเดรต จัดเป็นสารอาหารชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ในแต่ละโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตมีไฮโดรเจนและออกซิเจนอยู่ในอัตราส่วนสองต่อหนึ่ง   สูตรทั่วไปของคาร์โบไฮเดรตคือCn H2n On

          คาร์โบไฮเดรตแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ
          ๑. โมโนแซ็กคาไรด์ (monosaccharide) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กที่สุด  เมื่อกินแล้วจะดูดซึมจากลำไส้ได้เลย ไม่ต้องผ่านการย่อย ตัวอย่างของน้ำตาลประเภทนี้ได้แก่ กลูโคส (glucose) และฟรักโทส (fructose) ทั้งกลูโคสและฟรักโทสเป็นน้ำตาลที่พบได้ในผัก ผลไม้ และน้ำผึ้ง น้ำตาลส่วนใหญ่ที่พบในเลือด คือ กลูโคส ซึ่งเป็นตัวให้กำลังงานที่สำคัญ
          ๒. ไดแซ็กคาไรด์ (disaccharide)  เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ประกอบด้วยโมโนแซ็กคาไรด์ ๒ ตัวมารวมกันอยู่ เมื่อกินไดแซ็กคาไรด์เข้าไป น้ำย่อยในลำไส้เล็กจะย่อยออกเป็นโมโนแซ็กคาไรด์ก่อน ร่างกายจึงสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้  ไดแซ็กคาไรด์ที่สำคัญทางด้านอาหาร  คือ แล็กโทส (lactose)  และซูโครส  (sucrose)  แล็กโทสเป็นน้ำตาลที่พบในน้ำนม แต่ละโมเลกุลประกอบด้วยกลูโคส  และกาแล็กโทส (galactose) ส่วนน้ำตาลทรายหรือซูโครสนั้น พบอยู่ในอ้อยและหัวบีต แต่ละโมเลกุล ประกอบด้วย กลูโคสและฟรักโทส
          ๓. พอลีแซ็กคาไรด์  (polysaccharide) เป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่  และมีสูตรโครงสร้างซับซ้อน  ประกอบด้วยโมโนแซ็กคาไรด์จำนวนมากมารวมตัวกันอยู่   พอลีแซ็กคาไรด์ที่สำคัญทางอาหาร  ได้แก่ ไกลโคเจน (glycogen) แป้ง (starch) และเซลลูโลส (cellulose) ไกลโคเจนพบในอาหารพวกเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ ส่วนแป้งและเซลลูโลสพบในพืช แม้ว่าไกลโคเจน แป้ง และเซลลูโลสประกอบด้วยกลูโคสเหมือนกัน แต่ลักษณะการเรียงตัวของกลูโคสต่างกันทำให้ลักษณะสูตรโครงสร้างต่างกันไป เฉพาะไกลโคเจนและแป้งเท่านั้นที่น้ำย่อยในลำไส้สามารถย่อยได้
น้ำตาลประเภทโมโนแซ็กคาไรด์และไดแซ็กคาไรด์เป็นน้ำตาลที่มีรสหวาน แต่มีรสหวานไม่เท่ากันน้ำตาลฟรักโทส  กลูโคส และแล็กโทสมีความหวานเป็นร้อยละ ๑๑๐, ๖๑ และ ๑๖ ของน้ำตาลทรายตามลำดับ

          หน้าที่ของคาร์โบไฮเดรต          คาร์โบไฮเดรตมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายดังนี้
          ๑. ให้กำลังงาน  ๑  กรัมของคาร์โบไฮเดรตให้ ๔ กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่ให้กำลังงานไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของแคลอรีทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน  ชาวไทยในชนบทบางแห่งได้กำลังงานจากคาร์โบไฮเดรตถึงร้อยละ ๘๐
          ๒. สงวนคุณค่าของโปรตีนไว้ไม่ให้เผาผลาญเป็นกำลังงาน ถ้าได้กำลังงานจากคาร์โบไฮเดรตเพียงพอ
          ๓. จำเป็นต่อการเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ถ้าหากร่างกายได้คาร์โบไฮเดรตไม่พอจะเผาผลาญไขมันเป็นกำลังงานมากขึ้น เกิดสารประเภทคีโทน  (ketone  bodies) คั่ง ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
          ๔. กรดกลูคูโรนิก (glucuronic acid) ซึ่งเป็นสารอนุพันธุ์ของกลูโคส ทำหน้าที่เปลี่ยนสารพิษที่เข้าสู่ร่างกายเมื่อผ่านไปที่ตับ ให้มีพิษลดลง และอยู่ในสภาพที่ขับถ่ายออกได้
          ๕. การทำงานของสมองต้องพึ่งกลูโคสเป็นตัวให้กำลังงานที่สำคัญ
          ๖. อาหารคาร์โบไฮเดรตพวกธัญพืช เป็นแหล่งให้โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ด้วย

          อาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตและความต้องการคาร์โบไฮเดรต          อาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตมีอยู่ ๕ ประเภท คือ ธัญพืช ผลไม้ ผัก นม ขนมหวานและน้ำหวานชนิดต่างๆ แม้ว่าโปรตีนและไขมันให้กำลังงานได้เช่นเดียวกับคาร์โบไฮเดรตก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุด ผู้ใหญ่แต่ละคนควรกินคาร์โบไฮเดรตไม่ต่ำกว่า  ๕๐-๑๐๐ กรัม เพื่อหลีกเลี่ยงผลร้ายจากการเผาผลาญโปรตีนและไขมัน ถ้าจะให้ดีร้อยละ ๕๐ ของกำลังงานที่ได้รับในแต่ละวันควรด้มาจากคาร์โบไฮเดรต

ไขมัน
          ไขมัน หมายถึง สารอินทรีย์กลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถละลายได้ในน้ำ  แต่ละลายได้ดีในน้ำมันและไขมันด้วยกัน  ตัวอย่างของไขมันที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคน  คือ ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) และคอเลสเทอรอล ส่วนใหญ่ของไขมันที่อยู่ในอาหาร คือ ไตรกลีเซอไรด์ ดังนั้น เมื่อพูดถึงไขมันเฉยๆ  จึงหมายถึงไตรกลีเซอไรด์  แต่ละโมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ ประกอบด้วย กลีเซอรอล (glycerol)  และกรดไขมัน  (fatty  acid) โดยกลีเซอรอลทำหน้าที่เป็นแกนให้กรดไขมัน  ๓  ตัวมาเกาะอยู่  กรดไขมันทั้ง ๓  ชนิดอาจเป็นชนิดเดียวกันหรือต่างชนิดก็ได้   ไตร-กลีเซอไรด์ที่สกัดจากสัตว์มีลักษณะแข็งเมื่อทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง  ส่วนไตรกลีเซอไรด์ที่สกัดจากเมล็ดพืชผลไม้เปลือกแข็งและปลามีลักษณะเป็นน้ำมัน
          กรดไขมัน

          เป็นสารที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน กรดไขมันแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑. กรดไขมันไม่จำเป็น เป็นกรดไขมันที่นอกจากได้จากอาหารแล้ว ร่างกายยังสามารถสังเคราะห์ได้ด้วย เช่น กรดสเตียริก (stearic acid) กรดโอเลอิก (oleic acid)
          ๒. กรดไขมันจำเป็น  เป็นกรดไขมันที่ร่างกายสังเคราะห์เองไม่ได้ ต้องได้จากอาหารที่กินเข้าไป  มีอยู่ ๓ ตัวคือ กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) กรดไลโนเลนิก  (linolenic  acid)  และกรดอะแรคิโดนิก (arachidonic acid) กรดไลโนเลอิกเป็นกรดไขมันจำเป็นที่พบมากที่สุดในอาหาร ส่วนกรดอะแรคิโดนิกนอกจากได้จากอาหารแล้ว ร่างกายยังสร้างได้จากกรดไลโนเลอิก

        หน้าที่ของไขมัน

          ไขมันมีความสำคัญในด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่เป็นตัวให้กำลังงาน ไขมัน ๑ กรัม ให้กำลังงาน ๙ กิโลแคลอรี ให้กรดไขมันจำเป็นช่วยในการดูดซึมของวิตามินเอ ดี อี และเค รสชาติของอาหารจะถูกปากต้องมีไขมันในขนาดพอเหมาะและช่วยทำให้อิ่มท้องอยู่นาน นอกจากนี้ร่างกายยังเก็บสะสมไขมันไว้สำหรับให้กำลังงานเมื่อมีความต้องการ
        อาหารที่ให้ไขมัน

          ไขมัน นอกจากได้จากน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหาร เช่น มันหมู มันวัว น้ำมันพืชชนิดต่างๆ อาหารอีกหลายชนิดก็มีไขมันอยู่ด้วย  เนื้อสัตว์ต่างๆ แม้มองไม่เห็นไขมันด้วยตาเปล่าก็มีไขมันแทรกอยู่  เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และ เนื้อแกะ มีไขมันประมาณร้อยละ ๑๕ - ๓๐ เนื้อไก่มีประมาณร้อยละ  ๖ - ๑๕  สำหรับเนื้อปลาบางชนิดมีน้อยกว่าร้อยละ ๑ บางชนิดมีมากกว่าร้อยละ ๑๒ ปลาบางชนิดมีไขมันน้อยในส่วนของเนื้อแต่ไปมีมากที่ตับ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันตับปลาได้ ในผักและผลไม้ มีไขมันน้อยกว่าร้อยละ ๑ ยกเว้นผลอะโวกาโด และโอลีฟ ซึ่งมีไขมันอยู่ถึงร้อยละ ๑๖ และ ๓๐ ตามลำดับ ในเมล็ดพืชและผลไม้เปลือกแข็งบางชนิดมีน้ำมันมาก สามารถใช้ความดันสูงบีบเอามาใช้ปรุงอาหารได้
          บทบาทของกรดไลโนเลอิกต่อสุขภาพ

          ถ้าได้กรดไลโนเลอิกไม่เพียงพอเป็นระยะเวลานาน จะปรากฏอาการแสดงต่อไปนี้ คือ การอักเสบของผิวหนัง เกล็ดเลือดลดต่ำลง ไขมันคั่งในตับ การเจริญเติบโตชะงักงัน เส้นผมหยาบ ติดเชื้อได้ง่าย และถ้ามีบาดแผลอยู่จะหายช้า การขาดกรดไลโนเลอิกนี้มักพบในผู้ป่วยที่กินอาหารทางปากไม่ได้ และได้สารอาหารต่างๆ ยกเว้นไขมัน ผ่านทางหลอดเลือดดำ ร่างกายต้องการกรดไลโนเลอิกในขนาดร้อยละ ๒ ของแคลอรีที่ควรได้รับ เพื่อป้องกันการขาดกรดไลโนเลอิกการศึกษาในระยะหลังได้พบว่า  ถ้ากินกรดไลโนเลอิกในขนาดร้อยละ ๑๒ ของแคลอรีที่ควรได้รับ  จะทำให้ระดับคอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์ในลือดลดลง การจับตัวของเกล็ดเลือดที่จะเกิดเป็นก้อนเลือดอุดตันตามหลอดเลือดต่างๆ เป็นไปได้น้อยลง และช่วยลดความดันโลหิต
       ปริมาณของกรดไลโนเลอิกในน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร

          น้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร ถ้ามาจากสัตว์มีกรดไลโนเลอิกน้อย น้ำมันพืชบางชนิดเท่านั้นมีกรดไลโนเลอิกมาก ในทางปฏิบัติควรเลือกกินน้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิกในเกณฑ์ร้อยละ ๔๖ ขึ้นไป เพราะในผู้ป่วยที่ได้รับกำลังงานวันละ  ๒,๐๐๐  กิโลแคลอรี จะต้องกินน้ำมันพืชประเภทที่มีไลโนเลอิกร้อยละ ๔๖ ถึงวันละ ๑๕  ช้อนชา จึงได้กำลังงานร้อยละ ๑๒ ที่มาจากกรดไลโนเลอิก ถ้าใช้น้ำมันพืชที่มีปริมาณกรดไลโนเลอิกต่ำกว่านี้จะต้องใช้ปริมาณน้ำมันมากขึ้นในการปรุงอาหารซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก
          ความต้องการไขมัน

          ปริมาณไขมันที่กินแต่ละวันควรอยู่ในเกณฑ์ร้อยละ  ๒๕-๓๕ ของแคลอรีทั้งหมดที่ได้รับ และร้อยละ๑๒ ของแคลอรีทั้งหมดควรมาจากกรดไลโนเลอิก
วิตามิน
          วิตามิน เป็นกลุ่มของสารอินทรีย์ ซึ่งร่างกายต้องการจำนวนน้อย เพื่อทำให้ปฏิกิริยาต่างๆ ในร่างกายเป็นไปตามปกติ ร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินได้ หรือสร้างได้ก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ โดยอาศัยสมบัติการละลายตัวของวิตามิน ทำให้มีการแบ่งวิตามินเป็น ๒พวก คือ วิตามินที่ละลายในไขมัน และวิตามินที่ละลายในน้ำ
          วิตามินที่ละลายตัวในไขมัน

          วิตามินในกลุ่มนี้มี ๔ ตัว คือ เอ ดี อี  และเคการดูดซึมของวิตามินกลุ่มนี้ต้องอาศัยไขมันในอาหาร มีหน้าที่ทางชีวเคมีเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีนบางชนิดในร่างกาย
          วิตามินเอ  มีชื่อทางเคมีว่า  เรทินอล (retinol) มีหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น  โดยเฉพาะในที่ทีมีแสงสว่างน้อย การเจริญเติบโต และสืบพันธุ์ อาหารที่ให้เรทินอลมากเป็นผลิตผลจากสัตว์ ได้แก่ น้ำนม ไข่แดง ตับน้ำมันตับปลา พืชไม่มีเรตินอล แต่มีแคโรทีน (carotene) ซึ่งเปลี่ยนเป็นเรตินอลในร่างกายได้  การกินผลไม้  ผักใบเขียว  และผักเหลืองที่ให้แคโรทีนมาก เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุก ผักบุ้ง ตำลึง ในขนาดพอเหมาะ จึงมีประโยชน์และป้องกันการขาดวิตามินเอได้
          วิตามินดี  มีมากในน้ำมันตับปลา ในผิวหนังคนมีสารที่เรียกว่า ๗-ดีไฮโดรคอเลสเทอรอล ซึ่งเมื่อถูกแสงอัลตราไวโอเลตจะเปลี่ยนเป็นวิตามินดีได้ เมื่อวิตามินดีเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับและไต เป็นสารที่มีฤทธิ์ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้  และการใช้แคลเซียมในการสร้างกระดูก การขาดวิตามินดีจะทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อน
          วิตามินอี มีหน้าที่เกี่ยวกับการต่อต้านออกซิไดซ์สารพวกกรดไขมันไม่อิ่มตัว วิตามินเอ  วิตามินซีและแคโรทีน  วิตามินอีมีมากในถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเปลือกอ่อน และน้ำมันพืช เช่น น้ำมันรำ น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย ในเด็กคลอดก่อนกำหนดการขาดวิตามินอีทำให้ซีดได้
          วิตามินเค มีหน้าที่สร้างโปรตีนหลายชนิดที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด การขาดวิตามินเค ทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย วิตามินเคมีมากในตับวัวและผักใบเขียว เช่น ผักกาดหอม กะหล่ำปลี นอกจากนี้บัคเตรีในลำไส้ใหญ่ของคนสามารถสังเคราะห์วิตามินเค ซึ่งร่างกายนำไปใช้ได้

          วิตามินที่ละลายตัวในน้ำ

          วิตามินในกลุ่มนี้มีอยู่ ๙ ตัว คือ วิตามินซี บี๑ บี๒ บี๖ ไนอาซิน กรดแพนโทเทนิก (pantothenic acid) ไบโอติน (biotin) โฟลาซิน (folacin) และบี๑๒ สำหรับวิตามิน ๘ ตัวหลังมักรวมเรียกว่า วิตามินบีรวมหน้าที่ทางชีวเคมีของวิตามินที่ละลายตัวในน้ำ คือ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาหรือทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายดำเนินไปได้ วิตามินพวกนี้ต้องถูกเปลี่ยนแปลงจากสูตรโครงสร้างเดิมเล็กน้อยก่อนทำหน้าที่ดังกล่าวได้
          วิตามินซี  มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างสาร  ซึ่งยึดเซลล์ในเนื้อเยื่อชนิดเดียวกัน  ที่สำคัญได้แก่  เนื้อเยื่อหลอดเลือดฝอย  กระดูก  ฟัน และพังผืด การขาดวิตามินซี  ทำให้มีอาการเลือดออกตามไรฟัน ที่เรียกว่า โรคลักปิดลักเปิด และอาจมีเลือดออกในที่ต่างๆของร่างกาย อาหารที่มีวิตามินซีมากคือ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว และผักสดทั่วไป
          วิตามินบี๑  ทำหน้าที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย ถ้าขาดจะเป็นโรคเหน็บชา อาหารที่มีวิตามินบี๑ มาก คือเนื้อหมูและถั่ว ส่วนข้าวที่สีแล้วมีวิตามินบี๑ น้อย
          วิตามินบี๒  มีหน้าที่ในขบวนการทำให้เกิดกำลังงานแก่ร่างกายอาหารที่มีวิตามินนี้มาก คือ ตับ หัวใจ ไข่ นม และผักใบเขียว
          วิตามินบี๖ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญโปรตีนภายในร่างกาย ถ้าได้วิตามินบี๖ ไม่พอ จะเกิดอาการชาและซีดได้ อาหารที่ให้วิตามินบี๖ ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่ว กล้วย และผักใบเขียว
          ไนอาซิน มีหน้าที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาการเผาผลาญสารอาหารเพื่อให้เกิดกำลังงาน การหายใจของเนื้อเยื่อและการสร้างไขมันในร่างกาย การขาดไนอาซินจะทำให้มีอาการผิวหนังอักเสบบริเวณที่ถูกแสงแดด ท้องเดินและประสาทเสื่อม ความจำเลอะเลือน อาหารที่มีวิตามินนี้มาก ได้แก่ เครื่องในสัตว์และเนื้อสัตว์ ร่างกายสามารถสร้างไนอาซินได้จากกรดอะมิโนทริปโตเฟน
          กรดแพนโทเทนิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเผาผลาญสารอาหารเพื่อให้เกิดกำลังงาน อาหารที่ให้วิตามินตัวนี้ ได้แก่ ตับ ไต ไข่แดง และผักสด โอกาสที่คนจะขาดวิตามินตัวนี้มีน้อย
          ไบโอติน  มีบทบาทสำคัญในปฏิกิริยาของกรดไขมันและกรดอะมิโน โอกาสที่คนจะขาดวิตามินตัวนี้มีน้อย   เพราะอาหารที่ให้วิตามินตัวนี้มีหลายชนิด เช่น  ตับ ไต ถั่ว และดอกกะหล่ำ
          โฟลาซิน  มีหน้าที่เกี่ยวกับการสังเคราะห์กรดนิวคลิอิกและโปรตีน ถ้าขาดวิตามินตัวนี้จะเกิดอาการซีด  ชนิดเม็ดเลือดแดงโต อาหารที่ให้โฟลาซินมาก คือ ผักใบเขียวสด น้ำส้ม ตับและไต
          วิตามินบี๑๒ มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไขกระดูก ระบบประสาท และทางเดินอาหาร มีส่วนสัมพันธ์กับหน้าที่บางอย่างของโฟลาซินด้วย การขาดวิตามินบี๑๒ จะมีอาการซีดชนิดเม็ดเลือดแดงโต และมีความผิดปกติทางระบบประสาท วิตามินบี๑๒ พบมากในอาหารจากสัตว์  เช่น  ตับ ไต น้ำปลาที่ได้มาตรฐานปลาร้า แต่ไม่พบในพืช
          จะเห็นได้ว่า วิตามินบางชนิดมีอยู่เฉพาะในพืชหรือสัตว์ บางชนิดมีทั้งในพืชและสัตว์ การกินข้าวมากโดยไม่ได้อาหารพวกเนื้อสัตว์ ถั่ว พืช ผัก ไขมัน และผลไม้ที่เพียงพอ ย่อมทำให้ขาดวิตามินได้ง่ายขึ้น เพราะข้าวที่ขัดสี แล้วมีระดับวิตามินเอ บี๑ และบี๑๒ ต่ำมาก
เกลือแร่
          เกลือแร่ เป็นกลุ่มของสารอนินทรีย์ที่ร่างกายขาดไม่ได้ มีการแบ่งเกลือแร่ที่คนต้องการออกเป็น ๒ ประเภท คือ
          ๑. เกลือแร่ที่คนต้องการในขนาดมากกว่าวันละ ๑๐๐ มิลลิกรัม ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม คลอรีน แมกนีเซียม และกำมะถัน
          ๒. เกลือแร่ที่คนต้องการในขนาดวันละ ๒-๓ มิลลิกรัม ได้แก่ เหล็ก ทองแดง โคบอลต์  สังกะสี แมงกานีส  ไอโอดีน  โมลิบดีนัม  ซีลีเนียม ฟลูออรีนและโครเมียม

          หน้าที่ของเกลือแร่

          ร่างกายมีเกลือแร่เป็นส่วนประกอบอยู่ประมาณร้อยละ ๔ ของน้ำหนักตัว เกลือแร่แต่ละชนิดมีหน้าที่เฉพาะของตัวเอง อย่างไรก็ตาม หน้าที่โดยทั่วไปของเกลือแร่มีอยู่ ๕ ประการ คือ
          ๑. เป็นส่วนประกอบของเนื้อเยื่อ  เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกระดูกและฟัน ทำให้กระดูกและฟันมีลักษณะแข็ง
          ๒. เป็นส่วนประกอบของโปรตีน  ฮอร์โมนและเอนไซม์ เช่น เหล็ก เป็นส่วนประกอบของโปรตีนชนิดหนึ่ง เรียกว่า เฮโมโกลบิน (hemoglobin) ซึ่งจำเป็นต่อการขนถ่ายออกซิเจนแก่เนื้อเยื่อต่างๆ ทองแดงเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ ซึ่งจำเป็นต่อการหายใจของเซลล์ไอโอดีนเป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนไทรอกซีน ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ถ้าหากร่างกายขาดเกลือแร่เหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อการทำงานของโปรตีน ฮอร์โมน  และเอนไซม์ที่มีเกลือแร่เป็นองค์ประกอบ
          ๓. ควบคุมความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย  โซเดียม โพแทสเซียม คลอรีน และฟอสฟอรัส  ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้
          ๔. ควบคุมดุลน้ำ โซเดียม  และโพแทสเซียมมีส่วนช่วยในการควบคุมความสมดุลของน้ำภายในและภายนอกเซลล์
          ๕. เร่งปฏิกิริยา ปฏิกิริยาหลายชนิดในร่างกายจะดำเนินไปได้ ต้องมีเกลือแร่เป็นตัวเร่ง เช่น แมกนีเซียม เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับการเผาผลาญกลูโคสให้เกิดกำลังงาน

          อาหารที่ให้เกลือแร่

          ต้นตอสำคัญของเกลือแร่ชนิดต่างๆ นั้น มีอยู่ในอาหารที่ให้โปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ นม ถั่วเมล็ดแห้งผักและผลไม้ก็ให้เกลือแร่บางชนิดด้วย เช่น โพแทสเซียม  แมกนีเซียม ส่วนโซเดียมและคลอรีนนั้นร่างกายได้จากเกลือที่ใช้ปรุงอาหาร
น้ำ
          น้ำเป็นสารอาหารอีกชนิดหนึ่ง  ที่คนขาดไม่ได้ร่างกายได้น้ำจากน้ำดื่ม และการเผาผลาญโปรตีน  คาร์โบไฮเดรต  และไขมัน  ร่างกายขับถ่ายน้ำออกมากับปัสสาวะและอุจจาระ   และโดยการระเหยทางผิวหนังและทางระบบทางเดินหายใจ ร่างกายมีกลไกควบคุมรักษาดุลน้ำให้อยู่ในเกณฑ์พอเหมาะ การขาดน้ำ  เช่น ไม่มีน้ำดื่มเป็นเวลา ๒-๓ วัน หรือเกิดท้องเดินอย่างรุนแรงไม่ได้รับการรักษา  สามารถทำให้เสียชีวิตได้  ในทางตรงกันข้ามถ้าร่างกายมีน้ำมากไป  เช่น  เป็นโรคไตขับถ่ายปัสสาวะไม่ได้ จะเกิดอาการบวม ซึ่งทำให้ตายได้เช่นกัน

ใยอาหาร
          ใยอาหาร (dietary fiber) หมายถึง สารจากพืชที่คนกินแล้ว น้ำย่อยไม่สามารถย่อยได้  ได้แก่  เซลลูโลส (cellulose) เฮมิเซลลูโลส (hemicellulose)  เพกทิน  (pectin) และลิกนิน (lignin) แม้ว่าร่างกายไม่สามารถย่อยใยอาหาร  แต่การไม่กินใยอาหารมีผลร้ายต่อสุขภาพได้ การศึกษาพบว่า ใยอาหารมีบทบาทสำคัญต่อการขับถ่ายอุจจาระให้ดำเนินไปตามปกติ  ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการป้องกันไม่ให้เกิดโรคถุงตันที่ลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งของลำไส้ใหญ่ และลดระดับคอเลสเทอรอลในเลือด

วิธีการถนอมอาหารในบางฤดูกาลมีผลผลิตประเภทอาหารมากมาย ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารสดๆได้หมด แต่เราสามารถเก็บรักษาอาหารนั้นไว้รับประทานต่อไปได้ด้วยวิธีการถนอมอาหาร ซึ่งการเลือกวิธีการถนอมอาหารที่เหมาะสมจะทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารไว้ได้นาน และสามารถรับประทานได้ตลอดฤดูกาล โดยที่อาหารไม่บูดเน่าเสียหรือต้องทิ้งโดยเปล่าประโยชน์
การถนอมอาหารด้วยวิธีการต่างๆมีดังนี้
การถนอมอาหารโดยตากแห้ง
1.การถนอมอาหารโดยตากแห้ง
เป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดมากที่สุด ใช้ได้กับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ โดยนำน้ำหรือความชื้นออกจากอาหารให้มากที่สุดเพื่อให้เอนไซม์ในอาหารไม่สามารถทำงานและบัตเตรีไม่สามารถที่เจริญเติบโตได้ในของแห้ง
สำหรับวิธีการตากแห้งอาจใช้ความร้อนหรือความร้อนจากแหล่งอื่น เช่น ตู้อบ เป็นต้นถ้าใช้แสงแดดควรมีฝาชีหรือตู้ที่เป็นมุ้งลวดป้องกันแมลงและฝุ่นละออง อาหารที่ผ่านวิธีการตากเเห้งแล้ว เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม กล้วยตาก เป็นต้น
การดอง
2.การดอง
เป็นการถนอมอาหารโดยใช้สารปรุงแต่งให้มีรสเปรี้ยว เค็ม หวาน หรือมีรสผสมทั้งเปรี้ยว เค็ม หวาน อุปกรณ์ที่ใช้ดองควรเป็นพวกเครื่องแก้ว ไม่ควรใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ เช่น หม้อ อะลูมีเนียม เป็นต้น เพราะในขณะดองอาจมีกรดเกิดขึ้นซึ่งกรดพวกนี้จะทำปฏิกิริยากับโลหะทำให้เกิดสารพิษในอาหรสำหรับปรุงรสที่ใช้ ได้แก่ เกลือ น้ำตาล น้ำส้มบริสุทธิ์ ส่วนอาหารที่ใช้วิธีดอง เช่น มะม่วงดอง ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง เป็นต้น
การถนอมอาหารโดยใช้น้ำตาล
3.การถนอมอาหารโดยใช้น้ำตาล
การถนอมอาหารโดยใช้น้ำตาลนิยมใช้กับพวกผลไม้ โดยทั่วไปแล้วผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
จะนิยมใส่น้ำตาลมาก การใช้น้ำตาลเพื่อการถนอมอาหารมีหลายวิธี ดังนี้
การเชื่อม
1. การเชื่อม
ใช้ความเข้มข้นของน้ำตาลแตกต่างกันตามอัตราส่วน ดังนี้
1.น้ำเชื่อมใส ใช้น้ำตาล 1 ถ้วย น้ำ 3 ถ้วย
2.น้ำเชื่อมปานกลาง ใช่น้ำตาล 1 ถ้วย น้ำ 2 ถ้วย
3.น้ำเชื่อมเข้มข้น ใช้น้ำตาล 1 ถ้วย น้ำ 1ถ้วยการเชื่อมนิยมใช้กับผลไม้บรรรจุกระป๋อง หรือขวด ที่เรียกว่า ลอยแก้ว เช่น เงาะกระป๋อง ลิ้นจี่กระป๋อง เป็นต้น
การทำแยม
2. การทำแยม
เป็นการใส่น้ำตาลในเนื้อผลไม้ที่มีน้ำปนอยู่ส่วนมาก แล้วกวนให้เข้ากัน เช่น แยมส้ม แยมสับปะรด เป็นต้น
การแช่อิ่ม
3.การแช่อิ่ม
เป็นการใส่น้ำตาลในปริมาณมาก โดยการแช่ในน้ำเชื่อม และเพิ่มความเข้มข้น ของน้ำเขื่อมจนถึงจุดอิ่มตัว แล้วนำมาทำแห้ง สมัยก่อนนิยมใช้วิธีการถนอมอาหารนี้กับผลไม้ ปัจจุบันนำผักหลายชนิดมาแช่อิ่ม แล้วจัดจำหน่ายจนเป็นที่นิยมในท้องตลาดเช่น ลูกตำลึง ก้านบอระเพ็ด ลูกมะกรูด เป็นต้น
การถนอมอาหารโดยการแช่แข็ง
4.การถนอมอาหารโดยการแช่แข็ง
การแช่เเข็งเป็นการถนอมอาหาร โดยการใช้อุณหภูมิต่ำ โดยการควบคุมจุลินทรีย์ และบัตเตรีไม่ให้สามารเจริญเติบโตได้ นิยมใช้กับอาหารสด อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว และบรรจุภัณฑ์พร้อมจำหน่าย ซึ่งผู้บริโภคซื้อแล้วสามารถนำไปอุ่นก่อนรับประทาน ในปัจจุบันนิยมแพร่หลายถึงแม้ว่าจะมีราคาสูง เพราะช่วยประหยัดเวลาเเละเเรงงาน ในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ อาหารแช่เเข็งจะสดและมีรสชาติดีกว่าอาหารกระป๋อง
การถนอมอาหารโดยใช้สารปรุงแต่งอาหาร
5.การถนอมอาหารโดยใช้สารปรุงแต่งอาหาร
การใช้สารปรุงแต่งอาหารเป็นการถนอมอาหาร เพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงการทำงาน
ของเอนไซม์หรือปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เก็บรักษาอาหารได้นานขึ้งหรือตกแต่งอาหาร
สารปรุงแต่งที่นิยมใส่ในอาหาร มีดังนี้
1.) สารกันบูด ถ้าใช้เพียงเล็กน้อยจะไม่เป็นอันตราย แต่ถ้าใช้มากแม้แต่เกลือก็เป็นพิษต่อร่างกายไม่ควรใช้มากหรือบ่อยจนเกินไป ส่วนปริมาณที่ใช้อย่างปลอดภัย
ควรใช้สารกันบูด 1 กรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม
2) สีผสมอาหาร ควรใช้สีจากธรรมชาติ หรือสารเคมีที่ได้รับอนุญาตให้ใส่ในอาหาร ขององค์การเภสัชกรรม
3) สารเคมี ช่วยในการควบคุมความเป็นกรด ด่าง เกลือในอาหารควบคุมคุณสมบัติทางกายภาพของอาหาร ทำให้อาหารสด เช่น ทำให้ผลไม้สุกช้าหรือทำให้สุกเร็ว เช่น พวกแก๊สบ่มผลไม้ เป็นต้น ก่อนใช้ควรศึกษาและดูคำแนะนำในซอง หรือฉลากที่ปิดไว้ข้างภาชนะบรรจุ
การรมควัน
6.การรมควัน
การรมควันเป็นการถนอมอาหารที่ต่างไปจากการ ตากแห้งธรรมดา นอกจากจะทำให้อาหารแห้งแล้ว ยังช่วยรักษาให้อาหารเก็บได้นาน มีกลิ่นหอมและรสชาติแปลกซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก การรมควันที่สามารถทำได้ในครอบครัวจะเป็นแบบธรรมชาติิโดยการสุมไฟด้วยไม้กาบมะพร้าว ขี้เลื่อย ซางข้าวโพด ให้แขวนอาหารไว้เหนือกองไฟใช้ไฟอ่อนๆเพื่อให้รมควันอาหารไปพร้อมกับไอร้อนจะช่วยทำให้อาหารแห้งเร็ว เช่น รมควันปลา เป็นต้น

การค้นหา ข้อมูลด้วย Search Engine

การค้นหา ข้อมูลด้วย Search Engine

การค้นหา ข้อมูลด้วย Search Engine

ในโลกของ Internet ข้อมูลมีมากมายเหลือเกิน ถ้าจะใช้เวลาในการอ่านทุกสิ่งบน Internet คงต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน
จริงแล้วเราคงไม่มีควมสนใจในทุกเรื่อง แต่คงสนใจเฉพาะเรื่องที่เราสนใจเท่านั้น จึงมีคนคิดเครื่องมือในการช่วยค้นหาข้อมูลที่
ต้องการ นั้นก็คือ Search Engine นั่นเอง

การค้นหาข้อมูลมีกี่วิธี ?
  มี 2 วิธ

1. การค้นหาในรูปแบบ Index Directory
วิธีการค้นหาข้อมูลแบบ Index นี้ข้อมูลจะมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่าการค้นหาข้อมูลด้วย วิธี Search Engine
โดยมันจะถูกคัดแยกข้อมูลออกมาเป็นหมวดหมู่ และจัดแบ่งแยก Site ต่างๆออก เป็นประเภท สำหรับวิธีใช้งาน คุณสามารถที่
จะ Click เลือกข้อมูลที่ต้องการจะดูได้เลยใน Web Browser จากนั้นที่หน้าจอก็จะแสดงรายละเอียดของหัวข้อปลีกย่อยลึกลง
มาอีกระดับหนึ่ง ปรากฏขึ้นมาให้เราเลือกอีก ส่วนจะแสดงออกมาให้เลือกเยอะแค่ไหนอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของฐานข้อมูลใน
Index ว่าในแต่ละประเภท จัดรวบรวมเก็บเอาไว้มากน้อยเพียงใด เมื่อคุณเข้าไปถึงประเภทย่อยที่คุณสนใจแล้ว ที่เว็บเพจจะ
แสดงรายชื่อของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับ ประเภทของข้อมูลนั้นๆออกมา หากคุณคิดว่าเอกสารใดสนใจหรือต้องการอยากที่จะดู
สามารถ Click ลงไปยัง Link เพื่อขอเชื่อต่อทางไซต์ก็จะนำเอาผลของข้อมูลดังกล่าวออกมาแสดงผลทันที นอกเหนือไปจากนี้
ไซต์ที่แสดงออกมานั้นทางผู้ให้บริการยังได้เรียบเรียงโดยนำเอา Site ที่มีความเกี่ยว ข้องมากที่สุดเอามาไว้ตอนบนสุดของ
รายชื่อที่แสดง


2. การค้นหาในรูปแบบ Search Engine


วิธีการอีกอย่างที่นิยมใช้การค้นหาข้อมูลคือการใช้ Search Engine ซึ่งผู้ใช้ส่วนใหญ่กว่า 70% จะใช้วิธีการค้นหาแบบนี้
หลักการทำงานของ Search Engine จะแตกต่างจากการใช้ Index ลักษณะของมันจะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่มหาศาลที่
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบน Internet ไม่มีการแสดงข้อมูลออกมาเป็นลำดับขั้นของความสำคัญ การใช้งานจะเหมือนการสืบค้น
ฐานข้อมูล อื่นๆคือ คุณจะต้องพิมพ์คำสำคัญ (Keyword) ซึ่งเป็นการอธิบายถึงข้อมูลที่คุณต้องการจะเข้าไป ค้นหานั้นๆเข้าไป
จากนั้น Search Engine ก็จะแสดงข้อมูลและ Site ต่างๆที่เกี่ยวข้องออกมา

หลักการค้นหาข้อมูลของ Search Enine
สำหรับหลักในการค้นหาข้อมูลของ Search Engine แต่ละตัวจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าทางศูนย์บริการ
ต้องการจะเก็บข้อมูลแบบไหน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีกลไกใน การค้นหาที่ใกล้เคียงกัน หากจะแตกต่างก็คงจะเป็นเรื่อง
ประสิทธิภาพเสียมากกว่า ว่าจะมีข้อมูล เก็บรวบรวมไว้อยู่ในฐานข้อมูลมากน้อยขนาดไหน และพอจะนำเอาออกมาบริการให้กับ
ผู้ใช้ ได้ตรงตามความต้องการหรือเปล่า ซึ่งลักษณะของปัจจัยที่ใช้ค้นหาโดยหลักๆจะมีดังนี้

      1. การค้นหาจากชื่อของตำแหน่ง URL ใน เว็บไซต์ต่างๆ

      2. การค้นหาจากคำที่มีอยู่ใน Title (ส่วนที่ Browser ใช้แสดงชื่อของเว็บเพจอยู่ทางด้าน ซ้ายบนของหน้าต่างที่แสดง

      3. การค้นหาจากคำสำคัญหรือคำสั่ง keyword (อยู่ใน tag คำสั่งใน html ที่มีชื่อว่า meta)

      4. การค้นหาจากส่วนที่ใช้อธิบายหรือบอกลักษณะ site

การค้นหาข้อมูลด้วย Search Engine

      1. เปิดเว็บไซด์ที่ให้บริการ
      2. ใส่คำ (keyword) ที่คุณต้องการจะค้นหาลงไปในช่องยาวๆ (text box) ที่มีสร้างเอาไว้ให้
      3. คลิ๊กที่ปุ่ม ค้นหา (กรณีเลือก Search Engine ที่อื่นอาจจะไม่ได้ใช้คำนี้ก็ได้ แล้วแต่ที่คุณเลือก


โปรแกรมจะเริ่มค้นหาคำนั้นๆให้ ตอนนี้คุณก็รอสักพักนึงก่อน จากนั้นรายชื่อของเว็บเพจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่ระบุจะ
ถูกแสดงออกมาในรูปแบบของลิ้งค์พร้อมคำอธิบายประกอบนิดหน่อย ให้เราอ่านเพื่อใช้ในการตัดสินใจว่ามันเกี่ยวข้องกับ
ข้อมูลที่เราต้องการหรือเปล่า ส่วนใหญ่ข้อมูลที่พบมีมากจนเกินกว่าที่จะแสดงให้เห็นหมดในหน้าเดียว มันจะมีตัวแบ่งหน้า
ให้เราทางด้าน ล่างสำหรับเลือกไปดูรายละเอียดส่วนอื่นๆที่เหลือในหน้าถัดๆไป แต่โดยมากแล้วข้อมูลที่ใกล้เคียง กับคำที่เรา
ต้องการมากที่สุดจะอยู่ในช่วงต้นๆ ของรายการแรกที่ Search Engine นั้นๆตรวจ



นอกจากการค้นหาข้อมูลแล้ว Search Engine บางที่ ยังสามารถค้นหา รูปภาพ ได้อีกด้วยครับ
การค้นหาด้วยวิธี Search Engine นั้นมักจะได้ผลลัพธ์ออกมากว้างๆชี้เฉพาะเจาะจงได้ยาก บางครั้งข้อมูลที่ ค้นหามา
ได้อาจมีถึงเป็นร้อยเป็นพัน Site แล้วมีใครบ้างหละที่อยากจะมานั้งค้นหาและอ่านดูที่จะเพจ ซึ่งคง ต้องเสียเวลาเป็นวันๆแน่

ซึ่งก็ไม่รับรองด้วยว่าคุณจะได้ข้อมูลที่คุณต้องการหรือไม่ ดังนั้นจิงมีหลักในการค้น หา เพื่อให้ได้ข้อมูลใกล้เคียงความเป็นจริง
มากที่สุด


ค้นหาคำในหน้าเว็บเพจด้วย Browser


การค้นหาคำในหน้าเว็บเพจนั้นจะใช้สำหรับกรณีที่คุณเข้าไปค้นหาข้อมูลที่เว็บเพจใด เว็บเพจหนึ่ง แล้วภายในมีข้อความ
ปรากฏอยู่เต็มไปหมด จะนั่งไล่ดูทีละบรรทัดคงไม่สะดวก ในลักษณะนี้เราใช้ใช้ browser ช่วยค้นหาให้ คือ

      1. ขึ้นแรกให้คุณนำ mouse ไป click ที่ menu Edit
      2. แล้วเลือกบรรทัดคำสั่ง Find (on  This Page) หรือกดปุ่ม Ctrl + F ที่ keyboard ก็ได้
      3. จากนั้นใส่คำที่ต้องการค้นหาลงไปแล้วก็กดปุ่ม Find Next
          โปรแกรมก็จะวิ่งหาคำดังกล่าว หากพบมันก็จะกระโดดไปแสดงคำนั้นๆ
          ซึ่งคุณสามารถกดปุ่ม Find Next เพื่อค้นหาต่อได้ อีกจนกว่าคุณจะพบข้อมูลที่ต้อง


ข้อแตกต่างระหว่าง Index และ Search Engine

คำตอบก็ คือวิธีในการค้นหาข้อมูลแบบ Index เค้าจะใช้คนเป็นผู้จัดรวบรวมและทำระบบฐานข้อมูลขึ้นมา
ส่วนแบบ Search Engine นั้นระบบฐานข้อมูลของมันจะได้รับการจัดสร้างโดยใช้ Software ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับงานทางด้านนี้
โดยเฉพาะมาเป็นตัวควบคุมและจัดการ ซึ่งเจ้า Software ตัวนี้จะมี ชื่อเรียกว่า Spiders การทำงานข้องมันจะใช้วิธีการเดิน
ลัดเลาะไปตามเครือข่ายต่างๆที่เชื่อมโยงถึงกันอยู่เต็มไปหมดใน Internet เพื่อค้นหา Website ที่เกิดขึ้นมาใหม่ๆ รวมทั้งยัง
สามารถตรวจสอบหาความเปลี่ยนแปลงของ ข้อมูลใน Site เดิมที่มีอยู่ ว่าที่ใดถูกอัพเดตแล้วบ้าง จากนั้นมันก็จะนำเอาข้อมูล
ทั้งหมดที่สำรวจเข้ามา ได้เก็บใส่เข้าไปในฐานข้อมูลของตนอัตโนมัติ ยกตัวอย่างของผู้ให้บริการประเภทนี้เช่น Excite , google
เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การเย็บผ้าด้วยมือ

  การเย็บผ้าด้วยมือ
วัสดุอุปกรณ์ในการเนา             

1.ผ้าสี่เหลี่ยม กว้างยาวตามต้องการ
2.เข็มเย็บผ้า ที่จับถนัดมือ
3.ด้าย จะเป็นด้ายสำหรับเย็บจักร หรือจะเป็นด้ายปักก็ได้
4.กรรไกร

การเนาคือการเย็บห่างๆพอให้อยู่เป็นแนวเพื่อเย็บให้เรียบร้อยต่อไปเช่น เนาก่อนสอย เนาก่อนเย็บตะเข็บให้ติดกันเนาเพื่อทำเครื่องหมายในการเย็บ  เนาเพื่อให้เกิดการรูดจีบ  เป็นต้น
การเนา เป็นขั้นตอนแรกของการเย็บผ้า  เพราะการเนาจะทำให้ชิ้นส่วนติดกันชั่วคราวก่อนการเย็บจริง  การเนามีส่วนดีคือ  ทำให้ผ้าไม่เคลื่อน เมื่อเย็บตะเข็บถาวรเสร็จแล้ว จึงดึงด้ายเนาออก
                                                      ประโยชน์ของการเนาผ้า

          1. เป็นการเย็บผ้าให้ติดกันชั่วคราวไม่ให้ผ้าเคลื่อนที่  
          2. ช่วยในการเย็บตะเข็บถาวรให้ง่ายขึ้นเมื่อเย็บตะเข็บเรียบร้อยแล้วจึงเลาะด้ายที่เนาออก
              3. เนาเพื่อทำเครื่องหมายในการเย็บ
          4. เนาเพื่อให้เกิดการรูดจีบ 
  การเนาเท่ากัน คือ การเย็บด้วยมือที่ช่วยยึดผ้า 2 ชิ้นหรือมากกว่าให้ติดกัน มีความถี่ห่างของฝีเข็มเสมอกันทั้งด้านบนและด้านล่าง ฝีเข็มห่างประมาณ 1/4 ถึง 1/2 นิ้ว ซึ่งถ้าเนาห่างกว่านี้จะไม่สามารถบังคับผ้าทั้ง 2 ชิ้นให้อยู่คงที่ได้ การเนาเท่ากันเหมาะสำหรับเนาตะเข็บ ก่อนเย็บเนาชายเสื้อและชายกระโปรงก่อนสอย เป็นต้น


          การเนาไม่เท่ากัน เป็นการเนาที่มีความถี่ห่างของฝีเข็มสลับกันฝีเข็มถี่อยู่ด้านบนฝีเข็มห่างอยู่ด้านล่างเป็นการเนาที่ช่วยยึดผ้าให้ติดกันแน่นกว่าการเนาเท่ากันการเนาชนิดนี้ใช้เป็นแนวในการเย็บจักรได้ดีหรือใช้เนาเพื่อลองตัวเสื้อหรือกระโปรงเป็นต้น



การเดินเส้นแบบด้นถอยหลัง
           เริ่มด้วยการแทงเข็มขึ้นมาตรงจุดที่ 1 แล้วย้อนมาแทงเข็มลงไปตามจุดที่ 2 โดยให้ปลายเข็มแทงขึ้นที่จุดที่ 3
ในเวลาเดียวกันดึงด้ายขึ้นให้ตลอด จากนั้นแทงเข็มลงที่จุดที่ 4 (จะเห็นว่าตรงกับจุดที่ 1) ให้ปลายเข็มแทงขึ้นที่จุดที่ 5
ดึงด้ายผ่านตลอด  ทำซ้ำอย่างนี้ ตามในภาพ จะได้การเย็บแบบเดินเส้น ซึ่งจะทำให้ตะเข็บสวย แข็งแรง
           ถ้าอยากให้เป็นเส้นตรง ควรขีดเส้นเตรียมไว้ตามต้องการ
                                                        
การปักเดินเส้นแบบเรียบ
               เริ่มแทงเข็มขึ้นที่จุดที่ 1 ดึงด้ายขึ้นมาให้หมด แทงเข็มลงจุดที่ 2 ในขณะเดียวกันสอดปลายเข็มขึ้นที่จุดที่ 3
แล้วดึงด้ายผ่านตลอด ทำตามผังลายที่ให้ไว้ไปเรื่อยๆ จะได้เป็นการปักเดินเส้นอย่างหนึ่ง
                                                                
การปักเดินเส้นลายโซ่
             เริ่มเหมือนกับการปักที่ผ่านมานั่นแหละค่ะ ต่างกันอยู่ที่ เมื่อแทงเข็มขึ้นที่จุดที่ 1 แล้ว ดึงด้ายขึ้นมาให้หมด
จากนั้นแทงเข็มลงจุดที่ 2 ให้ตวัดด้ายอ้อมไปด้านบน แล้วจึงแทงเข็มขึ้นจากจุดที่ 2 ไปยังจุดที่ 3
โดยทีด้ายอ้อมเข็มอยู่ดังในภาพ จากนั้นดึงด้ายขึ้นมาให้หมด แล้วแทงเข็มจากจุดที่ 4 ไปยังจุดที่ 5
โดยมีด้ายตวัดอยู่ด้านบน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ฝีเข็มจะอ้อมซ้อนกันเหมือนโซ่ เป็นลายที่สวยงามลายหนึ่ง
                                                                   
 การด้น เป็นการเย็บด้วยมือที่ใช้แทนการเย็บด้วยจักรมีความทนทานมาก การด้นที่นิยมทั่วไปมี ดังนี้ 


การด้นตะลุย หมายถึงการเย็บผ้าสองชิ้นให้ติดกันโดยใช้เข็มที่ร้อยด้ายแล้วแทงขึ้นลงบนผ้าให้ได้ระยะเสมอกันและเป็นแนวตรง  เช่นเดียวกับการเนาแต่ฝีเข็มถี่กว่า  มักใช้เย็บกับผ้าบางๆ  เพื่อทำจีบรูด 
หรือด้นเพื่อการตกแต่ง
 อุปกรณ์ที่ใช้ในการด้นตะลุย  
1. กรรไกร
 2. เข็มหมุด
 3. เข็ม
 4. ด้าย
 5. เศษผ้า
ขั้นตอนการด้นตะลุย
1. ร้อยด้ายผูกปม แทงเข็มจากด้านล่างขึ้นมาทางด้านบนของผ้าแล้วดึงขึ้น
2. แทงเข็มลงไปด้านล่างแล้วแทงเข็มกลับขึ้นมาด้านบนโดยเว้นระยะฝีเข็มพอประมาณทำเช่นนี้เรื่อยไปจนสุดผ้าหรือตามความต้องการ
                                                   ประโยชน์ของการด้นตะลุย
1. ใช้ด้นเพื่อเย็บเกล็ดเสื้อ
2. ใช้ด้นเพื่อใช้ในการปะผ้า
3. ใช้ด้นเพื่อเย็บจีบรูด
4. ใช้ด้นเพื่อชุนผ้า
5. ใช้ด้นเพื่อยึดผ้าหลายๆชิ้น
6. ใช้ด้นเพื่อเย็บตะเข็บที่ต้องการให้เสร็จอย่างรวดเร็ว
         
การด้นถอยหลัง เป็นการเย็บผ้า2ชนิดให้ติดกันโดยแทงเข็มขึ้นและย้อนกลับไปแทงเข็มด้านหลังให้มีเข็มมีความยาวเพียง?ของฝีเข็มแรงแทงเข็มลงแล้วดึงด้ายขึ้นทำเช่นนี้ไปจนสิ้นสุดตะเข็บตะเข็บชนิดนี้มีความทนทานมากด้านหน้าจะมีลักษณะฝีเข็มเหมือนการเย็บด้วยจักรส่วนด้านหลังด้ายเย็บซ้อนกันแน่นเหมาะสำหรับเย็บผ้าโดยทั่วไปที่ต้องการความทนทาน

 การสอย เป็นการเย็บด้วยมือที่มองเห็นรอยเย็บทางด้านนอกน้อยที่สุดนิยมใช้สอยชายเสื้อชายกระโปรงชายขากางเกงหรือชายผ้าอื่น ๆ ที่ต้องการความสวยงามประณีตการสอยมีหลายชนิดที่นิยมใช้ทั่วไป มีดังนี้
การสอยซ่อนด้าย เป็นการสอยที่มองเห็นเส้นด้ายเย็บเพียงเล็กน้อย โดยแทงเข็มให้เข็มสอดในพับบทของผ้าให้กว้างช่วงละประมาณ 1 เซนติเมตร ก่อนแทงเข็มออกสะกิดเส้นด้ายจากผ้าชิ้นล่างประมาณ 1 – 3 เส้นแล้วสอดเข็มเข้าไปในเส้นทบผ้าแทงเข็มออกสะกิดเส้นด้ายจากผ้าชิ้นล่างทำเช่นนี้เรื่อยไปจนสิ้นสุดแนวที่ต้องการสอย
                              อุปกรณ์ที่ใช้ในการสอยซ่อนด้าย 
 1. กรรไกร
 2. เข็มหมุด
 3. เข็ม
 4. ด้าย

 5. เศษผ้า
                                                        ขั้นตอนการสอยซ่อนด้าย
1. พับริมผ้าที่จะสอย
   2. ร้อยด้ายผูกปมสอดเข็มเข้าใต้ริมผ้าส่วนที่พับแล้วแทงเข็มออกมา
  3. แทงเข็มเกี่ยวผ้าชั้นล่างขึ้นมาเล็กน้อย แล้วสอดเข็มเข้าในริมผ้าที่พับดึงด้ายขึ้นแล้วแทงเข็มลง         ไป  แบบเดิมอีก
  4. ทำเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆจนเสร็จ

   ประโยชน์ของการสอยซ่อนด้าย

1. ใช้สำหรับสอยชายเสื้อ
2. ใช้สำหรับสอยปลายแขนเสื้อ   
3. ใช้สำหรับสอยชายกระโปรง  
4. ใช้สำหรับสอยชายกางเกง 



การสอยฟันปลา เป็นการสอยที่มองเห็นเส้นด้ายทางด้านผิดมากกว่าทางด้านถูกโดยแทงเข็มสะกิดเนื้อผ้าด้านบนและด้านล่างแล้วดึงเข็มดึงด้ายตามทำเช่นนี้ไปจนสิ้นสุดการเย็บการสอยชนิดนี้เป็นการสอยที่ให้ความทนทานนิยมใช้สอยชายกางเกงทั่วไปไว้เพื่อให้เย็บตรงตำแหน่งใช้ด้ายเย็บตรงกลางฐานก้านกระดุมกับตัวเสื้อไม่ดึง


                            ประโยชน์ของการสอยซ่อนด้าย
 1. ใช้สำหรับสอยชายเสื้อ
 2. ใช้สำหรับสอยปลายแขนเสื้อ 
 3. ใช้สำหรับสอยชายกระโปรง
 4. ใช้สำหรับสอยชายกางเกง 

วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

การสื่อสารข้อมูลเเละเครือข่ายคอมพิวเตอร์

 
การสื่อสารข้อมูลเเละเครือข่ายคอมพิวเตอร์

การสื่อสารข้อมูล เป็นการส่งข้อมูลข่าวสารจากต้นทางไปยังปลายทางโดยผ่านช่องทางการสื่อสารทั้งสื่อแบบที่ต้องใช้สายและไม่ใช้สายนอกจากนั้นยังเกี่ยวข้องกับชนิดของสัญญาณ ประเภทของการส่งสัญญาณข้อมูล วิธีการสื่อสารข้อมูล ทิศทางการสื่อสารข้อมูล อุปกรณ์แปลงสัญญาณ วิธีการแปลงสัญญาณ
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นการเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ตั้งแต่สองเครื่องขึ้นไป เพื่อติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ ช่องทางการสื่อสารข้อมูล  และอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อ นอกจากนั้นยังมีแบบจำลองไอเอสโอ ซึ่งเป็นระบบเปิดเพื่อเป็นแนวทางมาตรฐาน เพื่อให้ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างระบบกันทำงานร่วมกันได้
ก่อนที่จะมีการใช้คอมพิวเตอร์ การติดต่อสื่อสารเพื่อส่งข้อมูลและข่าวสารจะผ่านทางสื่อต่างๆ เช่น ไปรษณีย์ โทรศัพท์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสาร เป็นต้น สื่อเหล่านี้เป็นสื่อหลักในการติดต่อสื่อสารเป็นเวลานาน
ยุคแรกการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งาน การทำงานทุกอย่างจะเป็นแบบรวมศูนย์ นั่นคือจะมีคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องหลักทำงานที่ศูนย์กลาง งานต่างๆจะต้องส่งมาประมวลผลที่ศูนย์กลาง
ยุคต่อมา พัฒนาเป็นระบบการประมวลผลทางไกล ซึ่งจะประกอบด้วยเทอร์มินัลที่จะเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์กลาง ระบบนี้ถึงแม้ว่าจะมีการกระจายการใช้งานของผู้ใช้ที่อยู่ห่างไกล แต่ระบบการทำงานก็ยังรวมศูนย์อยู่ที่คอมพิวเตอร์กลางขององค์การอยู่นั่นเอง
เมื่อมีการนำไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้งาน ทำให้เกิดการทำงานแบบกระจายศูนย์อย่างชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้น ในขณะเดียวกันหากมีงานที่ซับซ้อนและไม่สามารถทำงานได้โดยไมโครคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะประมวลผลภายใต้คอมพิวเตอร์ที่ศูนย์กลางได้ ซึ่งจะเห็นว่าการทำงานดังกล่าวเป็นรูปแบบการประมวลผลแบบกระจาย
ในช่วงแรก จะทำงานเป็นเอกเทศโดยเป็นรูปแบบการทำงานแบบกระจายศูนย์ นั่นคือ ไม่มีการเชื่อมโยงถึงกัน จนกระทั่งเกิดระบบแลน การทำงานใดๆจะทำโดยเจ้าของงานซึ่งเป็นต้นทางของข้อมูลเพื่อการประมวลผล แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเชื่อมโยงกับผู้ใช้ในจุดต่างๆที่อยู่ห่างไกลกันได้ ทำให้การสื่อสารข้อมูลในสำนักงานมีความสะดวกและเป็นเครื่องมือสำคัญของการสื่อสารข้อมูลในสำนักงานปัจจุบันนี้

 
ความหมายของการสื่อสารโทรคมนาคมและการสื่อสารข้อมูล
การสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication) หมายถึง การส่งผ่านสัญญาณ หรือพลังงาน ซึ่งอาจจะเป็นข่าวสารหรือข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ระหว่างผู้ส่งและผู้รับที่อยู่ห่างไกลกัน ในการส่งผ่านสัญญาณจะอาศัยช่องทางการสื่อสารข้อมูล ซึ่งจะเป็นแบบใช้สายโดยใช้ลวดตัวนำฉนวน หรือแบบไม่ใช้สายโดยส่งสัญญาณผ่านชั้นบรรยากาศ เช่น การสื่อสารโดยการใช้โทรศัพท์ (tele+phone = การพูดระยะไกล) การแพร่ภาพโทรทัศน์ (tele + vision  = การดูระยะไกล) โทรเลข (tele + graph = การเขียนทางไกล) เป็นต้น
การสื่อสารข้อมูล (Data communication) หมายถึง การส่งข้อมูลหรือข่าวสาร จากผู้ส่งต้นทางไปยังผู้รับปลายทางที่อยู่ห่างไกล โดยผ่านช่องทางการสื่อสารเพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นแบบใช้สาย หรือไม่ใช้สายก็ได้ ส่วนข้อมูลหรือข่าวสารนั้นอาจจะเป็นข้อความ เสียง ภาพเคลื่อนไหว หรือข้อมูลที่เป็นมัลติมีเดียก็ได้ ดังนั้นการสื่อสารข้อมูลจึงเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารโทรคมนาคม โดยเน้นการส่งผ่านข้อมูล โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายเป็นหลัก องค์ประกอบของการสื่อสารข้อมูล
§        ผู้ส่งหรืออุปกรณ์ส่งข้อมูล (Sender)
§        ผู้รับหรืออุปกรณ์รับข้อมูล (Receiver)
§        ข่าวสาร (Message)
§        ตัวกลาง (Medium)
§        โปรโตคอล (Protocol)
§        ซอฟต์แวร์ (Software)
ตัวอย่างการสื่อสารข้อมูล
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงในการเลือกตัวกลาง
§        อัตราเร็วในการส่งผ่านข้อมูล (Transmission Rate)
§        ระยะทาง ระหว่างอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อ
§        ค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ค่าใช้จ่ายประจำ และค่าบำรุงรักษา
§        ความสะดวกในการติดตั้ง บางพื้นที่เหมาะกับการเดินสาย หรือบางพื้นที่อาจจะเหมาะกับสื่อแบบไร้สาย
§        ความทนทานต่อสภาพแวดล้อม วิธีที่ใช้ในการสื่อสาร เช่นการสื่อสารข้อมูลแบบอนุกรม หรือแบบขนาน ทิศทางที่ใช้ส่งข้อมูลเป็นแบบทางเดียว กึ่งสองทาง หรือแบบสองทาง เป็นต้น
ชนิดของสัญญาณที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูล
สัญญาณดิจิตอล (digital Signal)
§        สัญญาณดิจิตอล หรือเรียกว่า สัญญาณพัลซ์ (Pulse Signal)” สัญญาณที่มีระบบของสัญญาณเพียง 2 ระดับ คือ สูงและต่ำ การเปลี่ยนระดับสัญญาณจะไม่มีความต่อเนื่องกัน (Discrete) โดยปกติแล้วระดับสูงจะแทนด้วยตัวเลข 1 และระดับต่ำจะแทนด้วย 0
สัญญาณอนาล็อก (Analog Signal)
§        สัญญาณอนาล็อก คือ สัญญาณที่อยู่ในรูปแบบของคลื่น (Waveform) ที่มีความต่อเนื่องกัน (Continuous) มีการเปลี่ยนแปลงระดับของสัญญาณขึ้น ลงตามขนาดของสัญญาณ (Amplitude) และมีความถี่ (Frequency) ที่เรียกว่า Hertz (Hz) ตัวอย่างของสัญญาณอนาล็อก เช่น เสียงพูด (Voice) กระแสไฟฟ้าสลับ เป็นต้น
ประเภทของการรับ - ส่งสัญญาณข้อมูล
1. แบบขนาน (Parallel Transmission)
§        รับส่งข้อมูลครั้งละหลาย ๆ บิตพร้อมกัน
§        จำนวนของสายสื่อสารเท่ากับจำนวนบิตของข้อมูลที่ ต้องการส่งไปแบบขนานกัน
§        เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าการรับส่งข้อมูลแบบอนุกรม
§        ไม่สามารถส่งไปในระยะทางที่ไกล ๆ ได้เนื่องจากข้อมูลแต่ละบิตอาจจะไปถึงปลายทางไม่พร้อมกัน เร็วกว่าการส่งแบบอนุกรม
§        นิยมใช้ในการรับส่งเพียงใกล้ ๆ เช่นการส่งข้อมูลออกไปพิมพ์ที่เครื่องพิมพ์เป็นต้น 
แบบอนุกรม (Serial Transmission) 
§        รับส่งข้อมูลครั้งละ 1 บิตเรียงตามลำดับกันไป
§         ใช้สายสื่อสารเพียงเส้นเดียวเท่านั้น
§         สามารถส่งไปได้ในระยะทางที่ไกล ๆ
§         นิยมใช้ในการสื่อสารข้อมูลผ่านทางสายโทรศัพท์ เมาส์ และ COM Port
ทิศทางของการสื่อสารข้อมูล 
§        แบบทิศทางเดียว (Simplex Transmission)
        ผู้ส่งสามารถส่งข้อมูลได้เพียงทางเดียวเท่านั้น ผู้รับไม่สามารถส่งข้อมูลตอบกลับมาได้ เช่น การกระจายเสียงทางวิทยุและการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ เป็นต้น
§        แบบทางใดทางหนึ่ง (Half-duplex Transmission)
        แต่ละฝ่ายสามารถรับ ส่งข้อมูลได้แต่จะไม่สามารถทำได้ในเวลาเดียวกัน เช่น การใช้วิทยุสื่อสารของตำรวจ กระดานสนทนา (Web board) อีเมล์ เป็นต้น
§        แบบสองทิศทาง (Full-duplex Transmission)
        สามารถรับส่ง ข้อมูลได้พร้อมกันทั้งสองทาง  ตัวอย่างเช่น การคุยโทรศัพท์ การสนทนาออนไลน์ในห้องสนทนา (Chat Room) เป็นต้น
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ระบบเครือข่าย (Network) คือ กลุ่มของเทคโนโลยี (ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ตัวกลาง และอื่นๆ) ที่สามารถเชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกัน ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านั้นสามารถติดต่อสื่อสารกัน และเปลี่ยนสารสนเทศระหว่างกัน และใช้แหล่งข้อมูลร่วมกันแบบเรียลไทม์ (real time)
ในปัจจุบันองค์กรบางองค์กรใช้ระบบรวมศูนย์กลาง คือ ใช้เครื่องเมนเฟรมและเครื่องเทอร์มินัล แต่ในขณะเดียวกันระบบธุรกิจและโรงเรียนจำนวนมากได้เปลี่ยนจากระบบรวมศูนย์กลางเป็นระบบเครือข่ายแบบใช้เครื่องพีซี เพราะมีความยืดหยุ่นมากกว่าการใช้เครื่องเมนเฟรมร่วมกับเครื่องเทอร์มินัล

ประโยชน์ของการใช้ระบบเครือข่าย
§        การใช้งานพร้อมกัน ระบบเครือข่ายจะอนุญาตให้ผู้ใช้หลายๆ คนใช้โปรแกรมและข้อมูลต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน
§        การใช้อุปกรณ์รอบข้างร่วมกัน ระบบเครือข่ายจะอนุญาตให้ผู้ใช้หลายๆ คน ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในเครือข่ายร่วมกันได้ เช่น เครื่องพิมพ์ เครื่องสแกนเนอร์ เป็นต้น
§        การสื่อสารส่วนบุคคล  ระบบเครือข่ายสามารถทำให้ผู้ใช้ติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น
§        การสำรองข้อมูลที่ง่ายขึ้น ระบบเครือข่ายสามารถทำให้ผู้ใช้และผู้ดูแลระบบสำรองข้อมูลที่สำคัญได้ง่าย

ชนิดของเครือข่ายคอมพิวเตอร์
1. เครือข่ายระยะใกล้หรือเครือข่ายแลน
        แลน คือระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ  กัน เช่น ในแผนกเดียวกัน ในสำนักงาน หรือตึกทำการเดียวกัน โดยแต่ละเครื่องสามารถติดต่อสื่อสารกันได้
เครือข่ายแลนเป็นเครือข่ายสำคัญที่ปรับเปลี่ยนการทำงานภายในสำนักงานให้เป็นระบบสำนักงานอัตโนมัติ โดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารข้อมูลมาช่วยอำนวยความสะดวก ในการทำงานในสำนักงานด้านต่างๆ ได้แก่
-         การติดต่อสื่อสารภายในสำนักงาน เช่น การส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพนักงาน การนัดหมาย เป็นต้น
-         การใช้ทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน เช่น การใช้แฟ้มข้อมูล หรือ ฐานข้อมูลกลางระหว่างหน่วยงาน การใช้เครื่องพิมพ์ร่วมกัน เป็นต้น
-         การทำงานร่วมกัน เช่น การทำงานกลุ่ม เพื่อส่งเอกสารระหว่างสมาชิกในกลุ่ม การประชุมทางไกล เป็นต้น
ชนิดของเครือข่ายแลน (แบ่งตามการจัดการทรัพยากรของเครือข่ายคอมพิวเตอร์)
- แบบลูกข่าย/แม่ข่าย (Client/Server)
                มีแม่ข่าย (Server) ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่มักจะใช้ควบคุมการทำงานในเครือข่ายเป็นผู้ให้บริการแก่คอมพิวเตอร์ลูกข่าย (Client) ที่เชื่อมต่อในเครือข่ายแลน
- แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer)
คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องในเครือข่ายมีสถานะเท่าเทียมกันหมด คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องสามารถเป็นผู้ให้บริการและผู้รับบริการในขณะใดขณะหนึ่ง
2. เครือข่ายระยะไกลหรือเครือข่ายแวน
        แวน คือ ระบบเครือข่ายแลนสองระบบเครือข่ายหรือมากกว่าเชื่อมต่อกัน โดยส่วนมากจะครอบคลุมพื้นที่กว้าง ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีสำนักงานขนาดใหญ่ และฝ่ายการผลิตตั้งอยู่ที่เมืองหนึ่ง ฝ่ายการตลาดตั้งอยู่อีกเมืองหนึ่ง แต่ละแผนกต้องมีการใช้ทรัพยากร ข้อมูล และโปรแกรม นอกจากนี้แต่ละแผนกต้องการใช้ข้อมูลร่วมกับแผนกอื่นด้วย จึงต้องมีการระบบแวน
โครงสร้างของเครือข่ายคอมพิวเตอร์


1. การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบบัส (Bus Network)
        ใช้สายสัญญาณต่อเชื่อม ซึ่งเรียกว่า บัส (Bus)” เป็นทางเดินของข้อมูลร่วมกันระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์โดยสัญญาณจะถูกกระจายไปตลอดทั้งเส้นทาง 
ข้อดีของการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบบัส (Bus Network)
ü     การใช้สายส่งข้อมูลจะใช้สายส่งข้อมูลร่วมกันทำให้ใช้สายส่งข้อมูลได้อย่างงเต็มประสิทธิภาพช่วยลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้งและการบำรุง
ü     เครือข่ายแบบบัสมีโครงสร้างที่ง่ายและมีความน่าเชื่อถือ เนื่องจากใช้สายส่งข้อมูลเพียงเส้นเดียว
ü     การเพิ่มจุดใช้บริการใหม่เข้าไปในเครือข่ายสามารถทำได้ง่าย เนื่องจากจุดใหม่จะใช้สายส่งข้อมูลที่มีอยู่แล้วได้
ข้อเสียของการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบบัส (Bus Network)
ü      การหาข้อผิดพลาดทำได้ยาก เนื่องจากในเครือข่ายจะไม่มีศูนย์กลางในการควบคุมอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้นการตรวจสอบข้อผิดพลาดจึงต้องทำจากหลาย ๆ จุดในเครือข่าย
ü      ในกรณีที่เกิดการเสียหายในสายส่งข้อมูล จะทำให้ทั้งเครือข่ายไม่สามารถทำงานได้
ü      เมื่อมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดการชนกันของข้อมูลเมื่อมีการับส่งข้อมูล
2.        การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบสตาร์ (Star Network)
        การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบสตาร์ เป็นการเชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เข้าสู่คอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางโดยใช้ฮับ (Hub) หรือสวิตช์ (Switch) เป็นจุดเชื่อมต่อและจะเรียกคอมพิวเตอร์ที่เป็นศูนย์กลางนั้นว่า โฮสต์คอมพิวเตอร์ (Host Computer)”
  ข้อดีของการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบสตาร์ (Star Network)
ü     เครือข่ายแบบสตาร์จะมีโฮสต์คอมพิวเตอร์อยู่ที่จุดเดียวทำให้ง่ายในการติดตั้งหรือจัดการกับระบบ
ü     จุดใช้งาน 1 จุด ต่อกับสายส่งข้อมูล 1 เส้น เมื่อ กิดการเสียหายของจุดใช้งานใดใน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของจุดอื่น
ข้อเสียของการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบสตาร์ (Star Network)
ü     เนื่องจากแต่ละจุดจะต่อโดยตรงกับโฮสต์คอมพิวเตอร์ ดังนั้นจึงต้องใช้สายส่งข้อมูลจำนวนมากทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการติดตั้งและบำรุงรักษา
ü      การเพิ่มจุดใหม่เข้าในระบบจะต้องเดินสายจากโฮสต์คอมพิวเตอร์ออกมา ทำให้การขยายระบบทำได้ยาก
ü      การทำงานขึ้นอยู่กับโฮสต์คอมพิวเตอร์ถ้าโฮสต์คอมพิวเตอร์เกิดเสียหายขึ้นก็จะไม่สามารถใช้งานเครือข่ายได้
3. การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบริง (Ring Network)
        การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบริง มีการต่อเชื่อมกันเป็นวงแหวน (Ring Network)  การรับส่งข้อมูลจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การติดต่อสื่อสารจะใช้ โทเค็น (Token)” เป็นสื่อกลางในการติดต่อภายในเครือข่าย
ข้อดีของการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบริง (Ring Network)
ü      ใช้สายส่งข้อมูลน้อย ความยาวของสายส่งข้อมูลจะใกล้เคียงกับแบบบัส แต่จะน้อยกว่าแบบสตาร์ ทำให้เพิ่มความน่าเชื่อถือของการส่งข้อมูลได้มากขึ้น
ü      เหมาะสำหรับใช้กับเคเบิลเส้นใยแก้วนำแสง  เนื่องจากจะช่วยให้ส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง ข้อมูลในวงแหวนจะเดินทางเดียว ในการส่งแต่ละจุดจะเชื่อมกับจุดติดกันด้วยสายส่งข้อมูลทำให้สามารถเลือกได้ว่าจะใช้สายส่งข้อมูลแบบไหนในแต่ละส่วนของระบบ เช่น เลือกใช้เคเบิลใยแก้วนำแสงในส่วนที่ใช้ในโรงงานซึ่งมีปัญหาด้านสัญญาณ ไฟฟ้ารบกวนมาก เป็นต้น
ข้อเสียของการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบริง (Ring Network)
ü      การส่งข้อมูลบนวงแหวนจะต้องผ่านทุก ๆ จุดที่อยู่ในวงแหวน ดังนั้นหากมีจุดใดจุดหนึ่งเสียหาย ทั้งเครือข่ายก็จะไม่สามารถติดต่อกันได้ จนกว่าจะนำจุดที่เสียหายออกไป หรือแก้ไขให้ใช้งานได้
ü      ในการตรวจสอบข้อผิดพลาดอาจต้องทดสอบระหว่างจุดกับจุดถัดไป เพื่อหาดูว่าจุดใดเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและเสียเวลามาก
ü      ยากต่อการเพิ่มจุดใช้งานใหม่


การเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สาย (Wireless Network)
                เริ่มแรกนั้นสามารถรับส่งข้อมูลได้ 2 Mbps (Megabits per Second) จนพัฒนาให้สามารถส่งข้อมูลได้ 11 Mbps ด้วยราคาที่ถูกลง ทำให้เครือข่ายไร้สายได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งเครือข่ายไร้สายนี้จะใช้เทคโนโลยีที่สามารถส่งข้อมูลไปบนความถี่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ ซึ่งเรียกว่า “Spread Spectrum” โดยข้อมูลที่แยกส่งออกไปนั้นจะประกอบกันเหมือนเดิมที่ ตัวรับสัญญาณ
                เครือข่ายไร้สายจะช่วยอำนวยความสะดวกและความคล่องตัวในการใช้งานเครือข่าย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนภายในบริเวณพื้นที่ของเครือข่ายก็สามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ข้อมูลได้อย่างเต็มที่เช่นเดียวกับเครือข่ายปกติ 
อุปกรณ์เครือข่าย (Network Devices)
อุปกรณ์ทวนสัญญาณ (Repeater)
        อุปกรณ์ทวนสัญญาณทำงานใน Layer ที่ 1 ของ OSI Model เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่รับสัญญาณดิจิตอลเข้ามาแล้วสร้างใหม่ (Regenerate) ให้เป็นเหมือนสัญญาณข้อมูลเดิมที่ส่งมาจากต้นทาง จากนั้นค่อยส่งต่อออกไปยังอุปกรณ์ตัวอื่น ทำให้สามารถส่งสัญญาณไปได้ไกลขึ้น โดยที่สัญญาณไม่สูญหาย
ฮับ (Hub)
        Hub ใช้ในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับเครือข่าย จะมี พอร์ต (Port)” ใช้เชื่อมต่อระหว่าง Hub กับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เครือข่ายตัวอื่น ๆ Hub จะทวนสัญญาณและส่งต่อข้อมูลนั้นออกไปที่เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมต่ออยู่กับ Hub 
บริดจ์ (Bridge)
บริดจ์ ทำงานใน Layer ที่ 2 ของ OSI Mode ใช้เชื่อมต่อ Segment ของเครือข่าย 2 Segment หรือมากกว่าเข้าด้วยกัน โดยจะต้องเป็นเครือข่ายที่ใช้ Data Link Protocol ตัวเดียวกัน และ Network Protocol ตัวเดียวกัน เช่น ต่อ Ethernet LAN (ใช้ Topology แบบบัส และใช้โปรโตคอล Ethernet)  2 Segment เข้าด้วยกัน
Bridge สามารถกรองข้อมูลที่จะส่งต่อได้ โดยตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ส่งนั้นมีปลายทางอยู่ที่ใด ทำให้สามารถจัดการกับความหนาแน่นของข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เราเตอร์ (Router)
        เราเตอร์ ทำงานใน Layer ที่ 3 ของ OSI Model ใช้เชื่อมต่อเครือข่าย 2 เครือข่ายหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน โดยที่เครือข่ายนั้นจะต้องใช้ Network Protocol ตัวเดียวกัน แต่ใช้ Data Link Protocol ต่างกันได้ (ต่อ Ethernet LAN เข้ากับ Token LAN ได้) Router สามารถกรองข้อมูลได้เช่นเดียวกับ Bridge และสามารถหาเส้นทางในการส่งแพ็คเก็ตข้อมูลไปยังเครื่องปลายทางได้สั้นที่สุดด้วย
OSI Model (Open Systems Interconnection Model)
 หน่วยงานกำหนดมาตรฐานสากล หรือ ISO ระบุว่าควรแบ่งโปรโตคอลออกเป็น 7 เลเยอร์ (Layer) และในแต่ละเลเยอร์ควรมีหน้าที่อะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อบริษัทต่าง ๆ ได้ผลิตโปรโตคอลใหม่ขึ้นมา ก็ออกแบบให้สอดคล้องกับ OSI Model นี้เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับระบบของต่างบริษัทได้ 
§ Application Layer ประกอบไปด้วย Application Protocol ต่าง ๆ ที่มีผู้นิยมใช้งาน เช่น E-mail, File Transfer  เป็นต้น
§       Presentation Layer จัดการเกี่ยวกับรูปแบบของข้อมูลโดยการแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานที่ทุกเครื่องเข้าใจ
§       Session Layer สร้างการเชื่อมต่อเชิงตรรกะระหว่างเครื่องสองเครื่อง ทำการ Synchronize ข้อมูลเพื่อป้องกันปัญหาการเชื่อมต่อหลุด
§       Transport Layer ตัดข้อมูลออกเป็น segment ตรวจสอบความครบถ้วน ให้บริการเรื่องคุณภาพ
§       Network layer  แปลงข้อมูลเป็น packet และกำหนดเส้นทาง
§       Data Link Layer  อธิบายการส่งข้อมูลไปบนสื่อกลาง เพิ่ม Header และ Trailer เพื่อใช้ในการตรวจสอบต่าง ๆ
§       Physical Layer ทำหน้าที่ดูแลการส่งข้อมูลที่เป็น Bit ไปในช่องทางการ
โปรโตคอล (Protocol)
โปรโตคอล คือ ระเบียบวิธีการ กฎ และข้อกำหนดต่าง ๆ ใน การติดต่อสื่อสารรวมถึงมาตรฐานที่ใช้เพื่อให้สามารถส่งผ่านข้อมูลไปยังปลายทางได้อย่างถูกต้อง
TCP/IP (Transmission Control Protocol/Internet Protocol)
โปรโตคอลมาตรฐานที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกันใช้ระบบปฏิบัติการที่ต่างกันและอยู่บนเครือข่ายที่ต่างกันให้สามารถสื่อสารกันผ่านทางเครือข่ายได้โดย TCP/IP จะประกอบไปด้วยโปรโคตอล 2 ตัว TCP (Transmission Control Protocol) และ IP (Internet Protocol)
HTTP (Hyper Text Transfer Protocol)
โปรโตคอลที่ใช้ในการส่งเว็บเพจ (Web Page) ที่อยู่บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาให้เครื่องไคลเอ็นท์ที่ทำการร้องขอไปทำให้ผู้ใช้งานสามารถท่องไปในเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้ FTP (File Transfer Protocol )
โปรโตคอลที่ใช้ในการส่งโอนไฟล์ข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์โดยจะเรียกการโอนไฟล์จากเครื่องเซิร์ฟเวอร์มาที่เคลื่อนไคลเอ็นท์ว่า “Download” และเรียกการโอนไฟล์จากเครื่องไคลเอ็นท์ไปไว้ที่เครื่องเซิร์ฟเวอร์ว่า “Upload”
SMTP (Simple Mail Transport Protocol)
โปรโตคอลที่ใช้ในการส่ง E-mail ไปยัง Mailbox ที่จุดหมายปลายทาง
POP3 (Post Office Protocol – 3)
โปรโตคอลที่ใช้ในการดึง E-mail จาก Mailbox ของผู้ให้บริการมาเก็บไว้ที่เครื่องตนเองเพื่อให้สะดวกต่อการจัดการับ E-Mail